เปรียบเทียบ 5 แหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องยามวิกฤต
พิมพ์หน้านี้

เปรียบเทียบ 5 แหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องยามวิกฤต

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หรือพนักงานประจำ  นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบนิวนอร์มอลเพื่อลดการแพร่ระบาดแล้ว หลายคนยังต้องรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย รวมถึงหาแหล่งเงินทุนฉุกเฉินเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อ หรือดูแลตนเองและครอบครัวในวันที่รายได้ลดลง

ปัจจุบัน มีแหล่งเงินทุนให้เลือกหลากหลาย รวมถึงความช่วยเหลือเฉพาะกิจจากภาครัฐและสถาบันการเงิน แต่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่าประเภทใดเหมาะกับตนเองมากที่สุด “คาร์ ฟอร์ แคช” ผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถ จึงขอเปรียบเทียบแหล่งเงินทุนประเภทต่างๆ ให้ทุกคนสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมั่นใจ พร้อมสู้กับทุกอุปสรรค

1. โรงรับจำนำ
การนำทรัพย์สินส่วนตัวไปจำนำยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนเลือก เพราะมองว่ามีข้อจำกัดน้อย สามารถนำทรัพย์สินใดๆ ก็ได้ไปจำนำ และอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สูงเกินไป โดยปกติโรงรับจำของรัฐกำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.25 – 1.25 ต่อเดือน และในช่วงโควิด-19 ยังมีมาตรการลดดอกเบี้ยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โรงรับจำนำของเอกชนเองก็ยังพัฒนาบริการให้น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน และทันสมัยอีกด้วย แต่ต้องอย่าลืมว่าตั๋วจำนำโดยทั่วไปมีอายุ 4 เดือน 30 วัน ดังนั้น ในกรณีที่เงินต้นมีมูลค่าสูง บางคนอาจไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนทรัพย์สินได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องสูญเสียทรัพย์สินซึ่งหลายครั้งมีคุณค่าทางจิตใจไป

2. บัตรกดเงินสด
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทบัตรกดเงินสดคงเป็นตัวเลือกที่นึกถึง เพราะสะดวก เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพียงกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น บัตรกดเงินสดยังมาพร้อมกับบริการที่ตอบโจทย์การใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวงเงิน ให้เลือกการแบ่งผ่อนชำระได้หลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแหล่งเงินทุนประเภทนี้ถือเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจึงค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25 ต่อปี ดังนั้น ถ้าไม่บริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ อาจทำให้เกิดภาระหนี้สินเกินตัวได้

3. สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
พิโกไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับใช้อเนกประสงค์ สินเชื่อประเภทนี้ให้บริการโดยบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยผู้ประกอบกิจการสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลที่เป็นคนในพื้นที่ (ทำงานหรือมีถิ่นที่อยู่) ภายในจังหวัด แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงอยู่สักนิดที่ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ก็มีความโปร่งใส่ เป็นธรรม พร้อมทางเลือกแบบมีหลักประกันหรือไม่มีก็ได้ และแม้วงเงินจะไม่สูงมาก แต่ก็มากพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ ทำให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเสริมสภาพคล่องยามฉุกเฉินได้เช่นกัน

4. สินเชื่อเพื่อคนมีรถ
แหล่งเงินทุนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คือ สินเชื่อเพื่อคนมีรถ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นในวงเงินเท่ากัน และมีระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวกว่าถึงสูงสุด 84 เดือน ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่สูงเกินไป นอกจากนี้ ผู้บริการหลายแห่งยังเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยสามารถชำระค่างวดในแต่ละเดือนได้มากกว่าที่กำหนดเมื่อมีความพร้อม ผ่อนได้หมดเร็วขึ้น และไม่ต้องโอนเล่มทะเบียนอีกด้วย

หนึ่งในความกังวลของหลายคนเกี่ยวกับสินเชื่อประเภทนี้ก็คือ ขั้นตอนซับซ้อน มีข้อจำกัดเยอะ แต่ปัจจุบันขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อมีความรวดเร็วขึ้นมาก เช่น “คาร์ ฟอร์ แคช” ก็สามารถอนุมัติและรับเงินได้ภายใน 1 วัน อีกทั้งยังครอบคลุมทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และบิ๊ก ไบค์ นอกจากนี้ ยังให้วงเงินสูงสุดถึงร้อยละ 100 ตามราคาประเมินรถ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่เริ่มต้นที่ร้อยละ 0.27 ต่อเดือนและ สำหรับประเภท “โปะ” อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเริ่มต้นร้อยละ 12 ต่อปี ทำให้มีเงินทุนไปใช้เพิ่มเติมในกรณีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในครอบครัวหรือธุรกิจได้อีกด้วย

5. สินเชื่อฟื้นฟู
สินเชื่อฟื้นฟูเป็นสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประคับประคองให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการ และรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้ สินเชื่อมีระยะเวลา 5 ปี โดยผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก และจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีใน 2 ปีแรก และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สินเชื่อฟื้นฟูมีเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น คุณสมบัติของผู้กู้ วงเงินสูงสุด รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

แน่นอนว่าแหล่งเงินทุนเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ไขปัญหาการเงินทุกอย่างในยามวิกฤต สิ่งที่ดีที่สุดคือการวางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ การติดต่อเพื่อสอบถามมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันทางการเงินก็ถือเป็นอีกทางที่สามารถช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตและช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
###

ย้อนกลับ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

+ ดูทั้งหมด